หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การสังเกตเป็นการประเมิน

            "ปีนี้มีชั่วโมงสอนมากเลย  ไม่เหมือนปีที่แล้ว  มีชั่วโมงว่างตั้ง  2  ชั่วโมง..."  ..2  ชั่วโมงได้ตรวจการบ้านนักเรียน  ได้เตรียมสอนชั่วโมงต่อไป  ได้ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย  ได้สนทนา(คุยกัน)  ได้พักผ่อนอิริยาบท  ได้ทำธุระส่วนตัว  ต่าง ๆ นานา  ใคร!....ว่าครูว่าง!.....เพราะตรวจการบ้านก็พัฒนาผู้เรียนเป็นการติดตามผล...ถูกต้อง!....เตียมสอนก็เพราะมีความรับผิดชอบ...ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายยามที่ไม่ได้สอนกับเป็นสิ่งวิเศษขยันและรับผิดชอบสูงมาก...เป็นการสร้างสรรค์งานได้ดีมาก......สนทนา(คุยกัน)ก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน..แต่อย่าสนทนานานจนเกินเวลาเพราะเวลาแลกเปลี่ยนมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เช่น ตอนทานข้าวก็ได้  ตอนคุมแถวก็ดี  ตอนจัดกิจกรรมร่วมกัน...มีมากมาย....พักผ่อนก็ทำร่างกายให้แข็งแรงสู้ที่จะสอนผู้เรียนอย่างเข้มแข็งและได้ความรู้ประสบการณ์เต็ม ๆ.....ธุระส่วนตัวตรงนั้นคือสวัสดิการในการสร้างพลังในการทำงาน...เพราะฉะนั้นใคร?...ว่า...ครูว่าง...ไม่ใช่!....ครูปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา...แม้แต่นั่งเฉย ๆ เพื่อหยุดคิด  หยุดพัก  หรือเพื่อสิ่งใดก็แล้วแต่...ท่านจะเห็นเด็กมีพฤติกรรมตลอดว่าเด็กคนใหนทำอะไร  ดีไม่ดี...เป็นอย่างงี้ไปทุกวัน...สายตาที่เฝ้าดูผู้เรียนอยู่เสมอ....ท่านลองตรวจสอบอีกครั้งมีส่วนไหนที่เด็กแสดงออกโดยการกระทำที่ท่านเห็นอยู่ขณะ...ที่ว่าว่างนั่นแหละ....ได้เห็นผลที่เด็กเขากำลังปฏิบัติในกลุ่มสาระที่ท่านสอนออกมาบ้าง...แล้วผลเป็นอย่างไร...พอใจหรือไม่ทั้งรูปธรรมนามธรรม  ทั้งโดยวิชาท่านโดยตรงทั้งบูรณาการ...พอใจในผลมากน้อยแค่ไหน...จะต้องปรับตรงไหนอย่างไร.....นั่นแหละความว่างของท่าน คือ การประเมินแล้วรู้ตัวหรือเปล่า...ขอเพียงท่านว่างให้เป็น  ว่างให้เหมาะสม....ว่างเพื่องานโดยตลอด....ความว่างของท่านจะเป็นการประเมินที่คุ้มค่ามากที่สุด......นั่นคือท่านเป็นครูไม่เคยว่างโดยเปล่าประโยชน์แน่...ยืนยัน!

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เงียบ แนวเทือกเขา ชายแดน ช้างเผือก คลื่นใต้น้ำ

            "จงนำคำทั้ง  5  มาแต่งประโยคให้สละสลวย  ได้ใจความ"...คุณครูภาษาไทยกำหนดอย่างนั้น....
             จากความเงียบในการจัดการศึกษา  คาดเดาได้หลายอย่างว่าเกิดอะไรในกอไผ่งามกอนี้ซึ่งเป็นกอไผ่ที่ขึ้นอยู่ตามแนวเทือกเขาติดชายแดน  กอไผ่เป็นแหล่งแปรรูปใหญ่แห่งหนึ่ง  ไม่ใช่มีแต่หน่อไม้  ยังมีร่มเงา  ความเย็นสบายในการนั่งพักผ่อนหรือเป็นบริเวณที่สร้างความสุขด้านจิตและกายที่บริสุทธิ์ด้วยคุณธรรมความรู้ที่สอนจากเสียงธรรมชาติ  ความพริ้วอ่อนลู่ลมของยอดไผ่โน้มตามแรงลมจนสุดแต่ไม่มีการหัก  หลักการนี้ตรงกับการอ่อนน้อมของบุคคลที่มีกิริยาสุภาพ  น่ารัก  อ่อนหวานตามแรงลมที่มั่นคงได้  ลำไผ่  ท่อนไม้ไผ่  ประยุกต์ประสานเสียงเป็นขลุ่ย  เป็นเสียงดนตรีได้ตามใจชอบ  จะเคาะ  จะตี  เป็นเพลงบรรเลงได้หมด  เป็นความสุขบ้านน้อยในป่าใหญ่  บุคคลที่อยู่รอบข้างได้อาศัยกอไผ่พักพิงประโยชน์มากมาย  กระบอกไม้ไผ่เก็บน้ำตามธรรมชาติไว้ดื่มกิน  แม้จะอยู่สงบเงียบไกล ๆ แต่ไม่ได้เกิดความเงียบเหงาแต่อย่างไร  ตรงกันข้ามต่างคนต่างปฏิบัติภารกิจในแต่ละบทบาทอย่างเข้าใจในบทบาทของตนเอง  ท่ามกลางความเงียบที่เสมือนคลื่นใต้น้ำที่ไม่ทราบว่าในความเงียบนั้นแต่ละคนใช้เทคนิคอะไรในการเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนทางการศึกษาให้กับกลุ่มบุคคลที่อยู่ในที่แห่งเดียวกันนั้นได้เกิดความรู้  ประสบการณ์  ความมั่นใจว่า  ฉันมีอาวุธที่จะต่อสู้ได้ทุกหนแห่งที่ได้เหยียบย่างไป  ความเคลื่อนไหวอย่างเงียบ ๆ  ที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการทำงานที่อิสระในกลยุทธ์ที่ทุกคนสามารถเลือกได้ตามใจชอบ  เราจะไม่ก้าวก่ายในหน้าที่แต่เราจะประสานการทำงานที่ร้อยรัดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ร่วมกัน  สู่เวทีการแข่งขันที่บุคคลใต้ร่มไผ่สู้ได้ทุกสนามการแข่งขัน  ผลความเป็นเลิศที่ประจักษ์  เป็นที่ยอมรับ  และได้รับเกียรติการกล่าวขาน  "เป็นช้างเผือกในป่าใหญ่"  ป่าไผ่แห่งความสุข....อุปสรรค คือ กำลังใจ.....สิ่งที่ทำได้ คือ กำไรชีวิต....เราไม่หยุดแค่นี้  เราจะก้าวอยู่เสมอด้วยความมุ่งมั่นในอุดมการณ์  สร้างสานการศึกษาและเด็กไทย...สักวันที่พลังจะร่วมกันสรรสร้าง "เมืองไผ่งามที่ศิวิไล" "เมืองไผ่แห่งคุณภาพ".....จากจอมยุทธ์เมืองไผ่ที่เยี่ยมยอดในฝีมือ.......

ซ้ำ ๆ..เน้นย้ำ...กับการเปลี่ยนแปลง

            มองดูแล้วได้สัจธรรม....น้ำหยดลงหิน  ได้ม่านหินที่สวยงาม  ได้ก้อนหินก้อนใหม่เป็นรูปร่างที่ใหม่แปลกตา  น้ำเซาะร่องหินที่แข็งแกร่ง  จากกระโดดข้ามไปมาได้กรายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่....น้ำที่อ่อนนุ่มกับหินผาที่แข็งแกร่ง  หินยังสึกกร่อนได้  ประสาอะไรกับความรักความอ่อนโยนที่คุณครูหยิบยื่นให้กับเด็กทุกวัน ๆ  ด้วยความเอาใจใส่ให้เขาได้เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เน้นย้ำการพร่ำสอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน...จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่..ก็ให้รู้กันไปข้างหนึ่งล่ะ....

เจ็บปวด...หมอครูแก้ได้..

           อาการเจ็บป่วย  หากรู้จุดที่เจ็บปวด...บีบ..นวด...ให้ตรงจุดจะเป็นวิธีที่คลายอาการปวดได้  บางคนชอบที่จะให้ผู้อื่นบีบนวดให้ซึ่งก็เป็นกำลังใจอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งต่างคนต่างก็ชอบการเอาใจใส่หรือการรู้ใจที่แตกต่างกัน...จนอาจลืมไปว่าตนเองนั่นแหละให้กำลังใจที่ดีที่สุดเพราะตนเองย่อมรู้ว่าเกิดอาการเจ็บปวดตรงไหน  ควรบีบนวดตรงไหนอย่างไร  น้ำหนักมือเท่าไรจึงจะถูกใจและพอใจ...ใช้เวลาไม่นานเกินรอก็คลี่คลายอาการเจ็บปวดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี....ตนเองจะรู้จุดที่ต้องแก้ไขได้ดี  ทำนองเดียวกัน  การแก้ปัญหาในชั้นเรียนซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ อย่างไรก็เป็นห้องที่เราเฝ้าสอนมานาน  นานจนรู้ใจเด็กนักเรียนของตนเองว่าถ้าเกิดอาการผิดปกติ  บกพร่องในการเรียนรู้ตรงใหน  คนไหน  ควรแก้ไขอย่างไร  ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลของความใกล้ชิด  ข้อมูลแห่งการเข้าใจในตัวเด็กและอาการเจ็บปวดทางการศึกษา...ท่านรักษาให้หายขาดได้....จึงขอมอบฉายาให้ท่านว่า "หมอครู" ไงล่ะ.....แต่คุณหมอต้องเข้าใจและวินิจฉัยโรคทางการศึกษาของตนเองหรือห้องของตนเองได้อย่างเชี่ยวชาญด้วยนะ....อาการของโรคจะได้หายขาด  เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เฉกเช่นทั่วไปที่สังคมกำลังต้องการ...เด็ก ๆ รอการรักษาจากคุณหมออยู่แล้วขณะนี้....ช่วยเขาด้วย!
           

ประเมินภายนอกรอบสาม..ยาก!...หากไม่เข้าใจ

           ไปประชุมเพื่อฟังเกี่ยวกับการประเมินรอบสาม  ตื่นตัวกันมาก  มาจากทุกภาค  โดยเฉพาะภาคเหนือเพื่อได้ฟัง  ได้ทำความเข้าใจ  ได้รับเอกสารที่เป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องระหว่างการประเมินภายในและภายนอก......ประเมินรอบสามมี  3  กลุ่มใหญ่จัดแบ่งเป็น  4  มาตรฐาน  12  ตัวบ่งชี้ใหญ่  25  ตัวบ่งชี้ย่อย  3  กลุ่มใหญ่มีกลุ่มพื้นฐาน  กลุ่มอัตลักษณ์  และกลุ่มส่งเสริม  ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นและเชื่อมโยงกับผลการประเมินรอบสองให้ได้  อะไรคืดจุดเด่นของโรงเรียน  มีการส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาให้เกิดผลในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร...หากท่านเข้าใจแค่นี้ก่อนก็เป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจที่ดีแล้วล่ะ  เพราะอีกหน่อยรายละเอียดก็จะทยอยแทรกเข้ามาสัมผัสและทำให้เราเข้าใจในเร็ววันนี้...ขอทุกท่านใจเย็นและเตรียมรับสถานการณ์ไว้...เป็นสิ่งที่เราต้องทำ..ต้องประเมิน...ควบคู่กับการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้คุณภาพ
            แต่คุณภาพรอบสามนี้มีจุดเน้นที่....เมื่อคุณใส่ปัจจัย..เป็นกระบวนการ...ในการจัดการศึกษาแล้ว...เกิดผลเช่นไร  มีอะไรที่ดีขึ้น  ดีขึ้นอย่างไร  ตรงตามเป้าหมายที่ร่วมกันกำหนดและในที่สุดได้มาตรฐานทั้ง  4-12-25  หรือไม่  เพราะการประเมินจะเน้นมาดูตรงผลที่เกิดกับผู้เรียนโดยตรง  แล้วดูผลครู  ผู้บริหาร  โรงเรียน  และถึงชุมชน
             เกณฑ์มีทั้งเชิงปริมาณที่วัดเป็นตัวเลข  เชิงคุณภาพ  และที่สำคัญวัดในด้านการพัฒนาว่าต้องพัฒนาจากเดิมอย่างน้อยตามเกณฑ์หรือไม่ (จำได้คร่าว ๆ ว่าต้องพัฒนาจากค่าเฉลี่ยปีที่ผ่านมาอย่างน้อยร้อยละ  15)  อย่าเพิ่งตกใจอันนี้คือมุมประเมินในด้านการพัฒนาของบางตัวบ่งชี้ที่กำหนด
             ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ศึกษากลุ่ม...มาตรฐาน..ตัวบ่งชี้...และการประกันคุณภาพภายในภายนอกเสียก่อนให้เข้าใจ...แล้วจัดหมวดหมู่งานที่เราปฏิบัติอยู่แล้วเป็นประจำให้เข้ากับมาตรฐาน  ตัวบ่งชี้  และตอบคำถามให้ได้ว่าผลเกิดอะไรขึ้นมาในทิศทางที่ดีขึ้น...ก็จบ........ตัวอย่างง่าย ๆ   ถ้าเราสอนนักเรียนให้มีสติ  มีความคิด  มีสมาธิพร้อมที่จะเรียนรู้โดยการนั่งสมาธิวันละ  5 นาทีก่อนเรียนในชั่วโมงแรกทุกวัน...ตรงนี้คือปัจจัยและกระบวนการเท่านั้น...ผลที่ผู้ประเมินต้องการก็ คือ  เมื่อเด็กนั่งสมาธิแล้ว..เกิดอะไรขึ้นจากตัวเด็ก  มีอะไรที่เป็นผลที่พัฒนาที่เห็นได้  พิสูจน์ได้ว่าสมาธิแล้วทำให้เด็กดีขึ้น  ส่งผลสะท้อนต่อครู  ผู้บริหาร  โรงเรียนและถึงชุมชน   ผู้ปกครองอย่างไร  นำเสนอด้วยเอกสารหรือดูผลเชิงประจักษ์ได้ยิ่งเป็นการดี...ถ้ามี...ถ้าเห็น...ผลคะแนนแปรผันตรงกับพฤติกรรมอยู่แล้ว...เห็นไหมว่า...ถ้าเข้าใจแล้ว...ยาก...ซะเมื่อไหร่!!

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ฝากคำกลอน

               กล้วยไม้ออกดอก...ช้า...ฉันใด
ผลการศึกษาออกไม่...ง่าย...ฉันนั้น
ควรรีบเร่งในการ...รีบสร้างฝัน
บันไดขั้นสูงนั้น.....สู่เป้าหมาย
            10 จุดเน้นนโยบายให้เป็นกรอบ
เราต้องตอบโจทย์คำถามนี้ให้ได้
กลยุทธ์ที่ท่านมีอยู่ภายใน
คงต้องใช้ทุกไม้เด็ดเข้าประจัน
            เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญประการแรก
บูรณาการเข้าแทรกอย่างสร้างสรรค์
เด็กได้รู้เพราะครูเก่งมากอนันต์
มาร่วมกัน...พัฒนา...Asian....รอ
            ใจและกายที่ทุ่มเทไปทั้งหมด
ร้อยเป็นบทเพื่อเรียนรู้อย่างจดจ่อ
หมวดความรู้ประสบการณ์ให้...เพียงพอ
10  จุดเน้นร่วมสานต่อ...ได้ผลจริง

เรื่องของสีกับชีวิต

         การเข้ากันของสีที่กลมกลืน  เริ่มจากน้ำเงินกับขาว น้ำเงินกับเหลือง  ขาวกับเทา  เทากับดำ  ดำกับขาว  ขาวกับเหลือง  เหลืองกับแดง  แดงกับฟ้า  มาน้ำเงินกับเทาได้อีก  เทากับขาว  เทากับเหลือง  น้ำเงินกับน้ำตาล  น้ำตาลกับขาว  บนลวดลายที่เขาบรรจงประดิษฐ์ด้วยการ Paint  เป็นลวดลายบนที่นอนซึ่งกว่าจะได้ลวดลายกับสีที่กลมกลืนแบบนี้ได้  คงคิดและวางแผนจากผู้ที่มีความสามารถสูงอย่างแน่นอน..นับถือจริง ๆ  เพราะดูแล้วสบายตา  ปลื้มกับฝีมือที่คิดได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง  เราก็พลอยได้ความรู้เรื่องการเข้ากันของสีที่สามารถนำไปใช้แล้วภาพจะออกมาดีได้ด้วย.......ชีวิต...ของใครก็ตามถ้าปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เฉกเช่นกับการเข้ากันของสี...คงจะเป็นชีวิตที่ดูดี....น่ายกย่อง....ชมเชย...และคงจะเป็นชีวิตที่เหมาะสมทีเดียว...สีผสมกันได้หลากหลาย...ชีวิตก็มีแนวปฏิบัติในทิศทางการสร้าง...ศิลปชีวิตที่หลากหลายได้เหมือนกัน....ขอบคุณสีที่ให้ข้อคิดในวันนี้......

เทคนิคของท่านกับความมหัศจรรย์เลข 11

การคูณ เลข 11 กับเลขสองหลัก มีหลักในการหาคำตอบ ดังนี้

1. ผลคูณในหลักหน่วยจะเป็นตัวเดียวกับหลักหน่วยของเลขสองหลัก

2. ผลคูณในหลักสิบได้จากการนำตัวเลขในหลักสิบและหลักหน่วยของเลขสองหลักมาบวกกันโดยไม่มีทด

3. ผลคูณในหลักร้อยจะเป็นตัวเดียวกับหลักสิบของเลขสองหลัก

1. 11 X 13 = 143

2. 11 X 17 = 187

3. 11 X 24 = 264

4. 11 X 35 = 385




การคูณ เลข 11 กับเลขสามหลัก มีหลักในการหาคำตอบ ดังนี้

1. ผลคูณในหลักหน่วยจะเป็นตัวเดียวกับหลักหน่วยของตัวตั้ง

2. ผลคูณในหลักสิบได้จากการนำตัวเลขในหลักสิบและหลักหน่วยของตัวตั้งมาบวกกัน แต่ถ้าผลบวกหลักสิบและหลักหน่วยของตัวตั้งได้ตั้งแต่สิบขึ้นไป ให้นำไปทดในหลักร้อยของผลคูณ

3. ผลคูณในหลักร้อยได้จากการนำตัวเลขในหลักร้อยและหลักสิบของตัวตั้งมาบวกกัน และบวกกับตัวทดจากหลักสิบถ้ามี

4. ผลคูณในหลักพันจะเป็นตัวเดียวกับหลักร้อยของเลขสองหลัก ดังตัวอย่าง เช่น

1. 11 X 106 = 1166

2. 11 X 322 = 3542

3. 11 X 447 = 4917

5. 11 X 63 = 693


           เทคนิคของท่านก็คล้ายสูตรการคูณทางลัดเช่นนี้ ชัดกว่า
เร็วกว่า  ถูกต้อง  ป้อนเทคนิคที่ท่านมีอย่างหลากหลายสู่ผู้เรียนบนสนามการแข่งขัน  "รบร้อยครั้ง  ชนะร้อยครั้ง" เช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทางสายกลางที่ปฏิบัติได้ย่อมเกิดประโยชน์

      ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
     ๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
     ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
     ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
     ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
     ๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
     ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
     ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
     ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

     อีกด้านหนึ่งก็คือ  อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
     ๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
     ๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
     ๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
     ๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น

เก่ง ดี มีความสุข วัดกันตรงไหน

          พูดถึงกันเสมอว่า  การจัดการศึกษาถ้าจะบรรลุเป้าหมายผู้เรียนจะต้องเก่ง  ดี  มีสุข  เก่งก็วัดกันที่ผลการประเมินที่ค่อนเป็นตัวเลข  ได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็แสดงว่าเก่ง เช่น  อ่านเขียนได้ร้อยละ  80  ผลการแข่งขันได้ชนะเลิศหรือเหรียญทอง  ผล O-net  NT  Las  มีค่าเฉลี่ยตามเกณฑ์  เป็นค่าที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่เรายอมรับเพราะเป็นเกณฑ์ทีกำหนดว่าเท่านี้จึงจะเก่ง  ถ้าทำได้ก็เป็นมาตรฐานว่าเก่งจริง 
          ส่วนความดีวัดกันตรงความประพฤติ  ต้องประพฤติดีตามเกณฑ์อีกนั่นแหละที่กำหนด  ก็สังเกตดูได้  เด็กคนนี้มีมารยาท  อ่อนน้อมถ่อมตนมีมนุษยสัมพันธ์  มีจิตอาสา  กตัญญูรู้คุณ  รับผิดชอบ  ซึ่งล้วนเป็นนามธรรม  แต่ก็วัดได้ว่าดี
          แต่ในด้านความสุขเราได้สังเกตและถามกันบ้างหรือไม่  ว่าเด็กเราที่เฝ้าสอนเขามีความสุขมากน้อยหรือไม่เพียงใด  หากท่านเห็นแววตาที่สดใส  ไม่หวาดกลัวหวาดระแวงต่อการมาเรียนรู้มาศึกษา  ต้องการอยู่ใกล้คุณครู  เป็นกันเอง  พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่กลัวคุณครู  ทุกเรื่องพูดคุยกับคุณครูได้  ไม่สร้างความหนักใจซึ่งกันและกัน  นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข  คุณครูรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้เรียนว่าต้องการเรียนรู้สิ่งใดเสมือนพ่อแม่ที่รู้และเข้าใจลูกตนเองว่าสีหน้าแววตาขณะนี้เขาต้องการอะไร  แล้วเราให้เขาได้  เมื่อนักเรียนได้รับในสิ่งที่ประสงค์ คือ  องค์ความรู้ต่าง ๆ  ที่สามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังสามารถคิดและกระทำได้อย่างสร้างสรรค์  ข้อสำคัญคือนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างฉลาดเฉลียว  เท่านี้ก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขแล้ว แต่....ถ้าเราเพิ่มอารมณ์ที่สดใส  บริสุทธิ์  เป็นธรรมชาติ  มีการแสดงออกที่มาจากจิตใจที่แท้จริง...จากความสามารถที่ต้องการแสดงออกให้คุณครูได้ชมได้ดูด้วยความมั่นใจอย่างสุดซึ้งว่าเขาทำได้ดีที่สุดแล้ว...มีเสียงหัวเราะเฮฮา...สนุกกับการเรียนรู้....เป็นเสียงที่สดใส..และเป็นเสียงธรรมชาติตามวัยของเด็ก.....ข้อสำคัญก็คือ  ความพร้อมและความเป็นอิสระในการแสดงออกที่เขากลั่นความรู้และประสบการณ์ที่เราสะสมให้เขาได้แสดงออกมาได้อย่างอารมณ์ดี....เราแอบมองเห็นจุดนี้กันไหม....นั่นแหละความสุขที่แท้จริง.....ยากที่จะเกิด...แต่ไม่ยากที่จะทำ....เชื่อสิ !

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จุดเน้น 10 ประการ

จุดเน้น สพฐ. ปี 2554

1.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 5 กลุ่มสาระวิชาหลัก เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 4
(Student Achievement)
2.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น
(Literacy & Numeracy)

3.  นักเรียนทุกคนมีความสำนึกในความรักชาติ  (EQ: Emotional Quotient)
4.  เพิ่มศักยภาพนักเรียนในด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และ
ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นหนึ่งในสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (Excellence)
5.  สร้างทางเลือกในการเรียนรู้ที่เน้นให้ประชากรวัยเรียนทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ลดอัตราการออกกลางคัน ศึกษาต่อและประกอบอาชีพ  ( Alternative Learning)
6.  ส่งเสริมการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการขยายผล
สถานศึกษาพอเพียงต้นแบบ (Sufficiency  Economy)
7.  นักเรียน ครู และสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ (Southern Border Provinces)
8.  นักเรียน ครู และสถานศึกษาได้รับการพัฒนาเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
(ASEAN Community)

9.  สถานศึกษาทุกแห่งผ่านการรับรองมาตรฐานการศึกษา มีระบบการประกันคุณภาพ
ภายในที่เข้มแข็งและผ่านการรับรองจากการประเมินคุณภาพภายนอก (Quality Schools)

10.  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผ่านการประเมินคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (Efficient Service Areas)

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มองจุดใดให้เป็นจุดประกาย

           สิ่งใหนที่เรามองเห็นหากว่าเป็นจุดที่ดีเรามักจะชื่นชมยินดีกับจุดนั้นเพราะเป็นจุดที่อารมณ์ความรู้สึกบอกได้ว่า  พอใจ  ชอบใจ  แต่จุดใหนที่ไม่ดีมักจะถูกวัดว่าเราไม่ชอบ  ไม่ต้องการส่งเสริม  เป็นจุดที่ต่ำต้อยเสียเหลือเกิน...น่าเสียดายจริง ๆ...กับมุมมองอย่างนั้น...หากเรามี  concept  ว่า  จุดเด่นเราเสริม  จุดด้อยเราจะพัฒนา...ทุกอย่างจะง่ายในพริบตา  เพราะท่านเริ่มมีเป้าหมายร่วมกันแล้วว่าท่านจะสร้างให้เกิดขึ้น  สร้างในสิ่งที่ความคิด  ความสามารถที่เราจะพัฒนาได้  มีความมั่นใจอยู่เสมอว่าทุกคนจะมีวิธีการดำเนินการในสิ่งต่าง ๆ เป็นของตนเอง  แตกต่างกัน...แต่ไปถึงเป้าหมายเดียวกันได้...ขอเพียงท่านถามตัวเองว่า...รู้เป้าหมายชัดเจนหรือยัง....แล้วท่านคิดวิธีการของท่านซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ในตัวท่านออกหรือยัง...หากคิดได้...ท่านนำวิธีการมาใช้หรือยัง....หากท่านบอกว่าใช้อยู่เสมอ...ใช้อยู่เป็นประจำ...ท่านจะทำและคิดสร้างสรรค์อย่างมีความสุขที่สุด....เพราะท่านจะสามารถมองทุกสิ่งเป็นบวกและสร้างจุดประกายได้ตลอดเวลา.....เสมือนท่านมีสัมผัสรู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง....สิ่งที่ท่านไม่ชอบท่านจะคิดเพื่อแก้ไขและพัฒนาให้สำเร็จได้ด้วยฝีมือของท่าน  จุดที่ดีอยู่แล้วท่านก็สามารถต่อยอดได้....ทำไมจึงทำได้สำเร็จทุกครั้ง...เพราะท่านเพ่งมองจุดที่เห็นอย่างพินิจพิเคราะห์.....มองแบบมุ่งมั่นว่าสามารถทำได้....จับหรือทำอะไรแบบไม่ปล่อย...ทำจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด....เป็นดวงไฟสว่างไปทั่ว...เป็นดวงไฟที่สวยสดงดงาม...เพราะเราช่วยกันจุดประกายไฟคนละดวงร่วมกันนั่นเอง.....อย่าดูถูกความสามารถของตนเอง......ขอเพียงให้เด็กเก่งเพียงครึ่งหนึ่งในความสามารถของท่าน.......สังคมต้องปรบมือให้ท่านดัง ๆ

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาตนเอง

            การพัฒนาตนเองเปรียบเสมือนเรือชีวิต  อยู่ในโลกกว้างของมหาสมุทรที่มีองค์ความรู้อยู่เต็มไปหมด  เราแล่นเรือไปทิศทางใดจะพบแต่ความรอบรู้  เกิดประสบการณ์มากขึ้น  และถ้าประสบการณ์นั้นถูกจัดเก็บไว้อย่างดีก็จะเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีค่าอะไร  แล่นเรือไปก็เสียเวลา  สิ้นเปลืองน้ำมันไปเปล่า ๆ แต่ถ้าเรานำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ขยายหรือบอกต่อกัน  บางคนเกิดไอเดียปิ๊งขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก  บางคนเกิดองค์ความรู้จนถึงคำว่า "get" เลยก็มี  แล้วประสบการณ์นั้นหากนำมาถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้  สู่ผู้เรียนได้นับว่าวิเศษ  เพราะประสบการณ์ถูกใช้ประโยชน์แล้ว  เกิดประโยชน์ต่อบุคคล  ต่อสังคมมากมาย กล่าวได้ว่าการพัฒนาตนเองเสมอย่อมเกิดประสบการณ์ในความรู้ไม่รู้จบและถ้าความรู้ที่เรามีถูกถ่ายทอดถูกใช้ในทางที่ดีในทางที่สร้างสรรค์ นั่นแหละการพัฒนาตนเอง คือ การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในด้านคุณภาพทางการศึกษาที่สูงขึ้นร่วมกัน.......เราจึงต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอไม่หยุดยั้ง.....

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กำลังใจ

         ผ่านพ้นการแข่งขันทักษะทางวิชาการระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4  ขอแสดงความยินดีกับกองทัพวิชาการที่ได้รับเกียรติเป็นทัพหน้าสู่ระดับภูมิภาคจังหวัดอุดรธานี  เป็นการนำความสามารถด้านการจัดการศึกษาไปแสดงและนำเสนอ  ขอให้ประสบผลสำเร็จกับเหรียญรางวัลที่ตั้งใจทุกกิจกรรม
         สำหรับเรากองทัพหลังแม้ไม่ได้ไปก็ขอเป็นกำลังใจให้กองทัพหน้า  และอย่าหมดกำลังใจว่าทำไมเราไม่ได้ไป  ถ้าเราคิดเช่นนี้การศึกษาจะเดินไปได้ไม่ไกลเพราะใจท่านท้อแท้เสียก่อน  คำว่าเป้าหมายสามารถตั้งได้หลายทิศทางขึ้นอยู่กับบริบทโรงเรียน  แต่เป้าหมายหลักก็คือ บรรลุผลตามกรอบนโยบายกำหนด  เมื่อยังไม่ถึงก็มีเป้าหมายสำรอง คือ เป้าหมายการพัฒนา  ตัวอย่างเช่น  การพัฒนาที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม  ได้รางวัลระดับกลุ่มโรงเรียนเพิ่มขึ้น  ได้ระดับเขตพื้นที่เพิ่มขึ้น  หรือจากที่เคยได้รับแต่อันดับดีขึ้นกว่าเดิม  และอีกมากมาย  เหล่านี้ก็คือความสำเร็จที่เป็นผลงานของท่านโดยเฉพาะครูที่เฝ้าเพียรสอนนักเรียนมาเป็นเวลานาน  แม้ไม่ได้ไปท่านก็ประสบผลสำเร็จในเป้าหมายการพัฒนาเช่นกัน  แล้วค่อย ๆ เพิ่มเทคนิคที่เข้มข้นเพื่อสู่เป้าหมายหลักต่อไป..ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน.. 

Welcome

           ยินดีต้อนรับสู่ ห้องการศึกษา จากมุมหนึ่งของโรงเรียนชนะใช้กิจการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มุมมอง การเคลื่อนไหวทางการศึกษา  การเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาที่ดีสู่การสร้างแนวทางการปฏิบัติที่หลากหลาย  "ทุกคนมีความคิด  ทุกความคิดมีค่าเสมอสำหรับคำว่า  คุณภาพการศึกษา"  ให้พื้นที่ตรงนี้ได้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนร่วมกัน